Server vs Desktop Computer แตกต่างกันอย่างไร
บริษัทฯ ขนาดเล็ก เมื่อเริ่มต้นทำงานอาจคิดว่า Server ยังไม่ใช่สิ่งจำเป็นแต่เมื่อเริ่มทำงานไปซักระยะหนึ่ง สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือการเก็บข้อมูลเพื่อใช้งานร่วมกันภายในบริษัท การแลกเปลี่ยนไฟล์ หรืออื่นๆ
ดังนั้นบริษัทฯ ทั้งหลายเริ่มเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีเครื่องคอมพิวเตอร์ซักเครื่องเพื่อใช้เป็นคอมพิวเตอร์ส่วนกลางซื่งรู้จักภายใต้ชื่อ เซิร์ฟเวอร์คอมพิวเตอร์ (Server Computer)
สิ่งที่คิดในใจของผู้ใช้ทั่วไปหรือเจ้าของบริษัทฯ ผู้ที่จะต้องเป็นคนเสียเงินซื้อเครื่อง Server ซักเครื่องคืออะไร คงไม่พ้นข้อต่อไปนี้ครับ
- ใช้งานทั่วไปแค่เก็บข้อมูลเฉยๆ ไม่ได้มีอะไรมากมาย
- ใช้งานไม่มากหรอก ซื้อเครื่องเล็กๆก็ได้ ทำงานบน PC ยังทำได้เลย
- ลง OS แบบทั่วไป Share Network เหมือนเดิมก็ใช้งานได้อยู่แล้วนี่
- ซื้อ Server จริงๆ เลยดีไหมเพราะงานที่ทำก็ไม่มีอะไรมากมายแค่ Share file เอง
- ต้องซื้อ Server OS ด้วยหรือ แพงจัง
สารพัดคำถามกับบางบริษัทฯ ที่ไม่เคยมี Server คุณจะคิดหลายแบบแต่จะมีวิธีคิดแบบนี้เป็นส่วนใหญ่
- เอา Desktop Computer มาทำ Server
- เอา Server จริงๆ มาลง Desktop OS แบบทั่วไปแล้วใช้งาน
ในความเป็นจริงปัจจุบัน Server ราคาไม่แพงแล้ว แต่ก็ไม่ได้ถูกเท่า Desktop Computer ซึ่งยังไงก็คุ้มกว่าเพราะ Desktop Computer ยังไงก็ไม่ใช่ Server
Server แตกต่างจาก Desktop PC อย่างไร
เรามักเข้าใจผิดคิดว่า Server ไม่แตกต่างจาก Desktop PC ทั่วไป เพราะความต้องการขั้นต่ำในการใช้งานของ Hardware ไม่แตกต่างกัน แม้กระทั่งในกรณีที่มีสเปคที่คล้ายกันเช่น Processor , RAM หรือ Harddisk ก็ยังทดแทน Server จริงๆไม่ได้
Desktop Computer ถูกออกแบบให้ใช้งานกับ OS และใช้ Application กับงานทั่วไป อุปกรณ์ Hardware รองรับการทำงานแบบไม่ใช่การใช้งานแบบ 24 ชั่วโมงหรือใช้งานแบบต่อเนื่อง
ส่วน Server Computer ถูกออกแบบให้แตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยอันดับแรก ถูกออกแบบให้ใช้งานได้แบบ 24 ชั่วโมงต่อวัน แบบต่อเนื่องโดยไม่ต้องปิดเครื่องกันเลย เพื่องรองรับการเข้าใช้งานได้ตลอดเวลา
ความแตกต่างของ Hardware
Server Computer ถูกออกแบบให้รองรับการเพิ่มขยายมากกว่า Desktop PC อย่างเห็นได้ชัด
ด้วยการออกแบบ Server ที่ทำให้คุณสามารถเพิ่ม CPU การประมวลผลได้ตั้งแต่ 2-8 CPU
รองรับการเพิ่มขยายหน่วยความจำ หรือ RAM ตั้งแต่ 32GB จนถึงเยอะๆเลยครับ
รองรับ Harddisk แบบ Hotplug คือสามารถถอดหรือใส่ Harddisk ได้โดยไม่ต้องปิดเครื่อง (ความสามารถนี้แล้วแต่รุ่นเครื่องนะครับ)
Power Supply แบบ 2 ลูกแบบ Hot Plug ป้องกันไว้เวลา Power Supply ลูกใดลูกหนึ่งเสียก็ยังทำงานอยู่ได้ (ความสามารถนี้แล้วแต่รุ่นเครื่องนะครับ)
ความแตกต่างของ Software
เหมือนกันครับ Software ที่ใช้ติดตั้งบนเครื่อง Server ก็มีมากมายหลายแบบ ทั้งแบบฟรีลิขสิทธิ์หรือทั้งที่แบบต้องเสียเงินซื้อ เรื่องนี้ต้องขึ้นอยู่กับผู้ใช้ว่าจะติดตั้ง Application อะไร แล้วหาเลือกให้เหมาะสมกับ App ที่จะติดตั้งครับ ส่วนมากแล้ว Server ที่นำไปใช้ในลักษณะของ File Server ควรจะเลือก Software Server ที่เหมาะและใช้งานง่ายกับบริษัทฯ จะดีกว่าครับ จะได้เกิดความคุ้นเคยและไม่ยากเกินไป
ถามกันบ่อยว่าจะเอา Software ที่ใช้กับเครื่อง Desktop Computer มาติดตั้งและใช้งานแบบ Server ได้ไหม ตอบว่าได้ครับ แต่มันมีข้อจำกัดเยอะ และไม่รองรับการใช้งานในอนาคตกรณีที่มีเครื่องลูกข่ายเพิ่มขึ้น ทีนี้ละปวดหัวแน่นอน
Server Software ที่เหมาะกับบริษัทฯ มีให้เลือกหลายแบบ ในราคาเริ่มต้นที่ไม่แพงเกินไป แนะนำว่าควรพิจารณาด้วยนะครับ